การจะยิงจุดโทษให้เข้าประตูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเกมที่มีเดิมพันสูง สถานการณ์บีบคั้นจนส่งผลต่อการตัดสินใจของคนยิง และบ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นความกดดันเล่นงานพวกเขาเหล่านั้นจนสังหารพลาด ...
ทว่าในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 1976 รอบชิงชนะเลิศ อันโตนิน ปาเนนก้า จากทีมชาติเชโกสโลวาเกีย ยิงจุดโทษแบบที่โลกไม่เคยเห็นด้วยการชิปเบาๆ เข้ากลางประตูและทำให้ เช็ก เป็นแชมป์ยุโรปไป ... ลูกยิงดังกล่าวกลายเป็นลูกยิงในตำนานที่ถูกนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ภายใต้ชื่อ "จุดโทษแบบปาเนนก้า"
และนั่นคือที่มาที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง แต่สำหรับ ชีวิตค้าแข้งของ อันโตนิน ปาเนนก้า นั้นเป็นเช่นไร และอะไรที่ดลจิตดลใจให้เขายิงประตูอัน "แสนเบา" ในยุคที่ไม่มีใครกล้ายิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดวลกับยอดนายทวารแห่งยุคอย่าง เซ็ปป์ ไมเออร์?
"จุดโทษแบบปาเนนก้า" ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายและมีให้เห็นบ่อยในปัจจุบัน นักเตะอย่าง ซีเนดีน ซีดาน, เซร์คิโอ รามอส และ ลิโอเนล เมสซี่ ต่างก็เคยใช้วิธียิงแบบปาเนนก้าช่วยให้ทีมคว้าชัยมาไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ทั้งที่มันเหนือชั้นขนาดนั้น ทำไมจึงไม่ค่อยมีใครรู้จักต้นตำรับของมันล่ะ?
เหตุผลที่ อันโตนิน ปาเนนก้า ดังเพราะลูกจุดโทษนัดชิงชนะเลิศกับ เยอรมัน ในยูโร 1976 เพียงด้านเดียว นั่นก็เพราะว่าเขาไม่ค่อยได้มีโอกาสโชว์ฝีเท้าให้แฟนบอลส่วนใหญ่ของโลกได้เห็นด้วยตาเลย มีแต่เพียงคำกล่าวคำเล่าอ้างว่าเขาเป็นนักเตะที่มีความโดดเด่นด้านการส่งบอล, เตะลูกนิ่ง และยิงไดเร็กต์ฟรีคิก
ปาเนนก้า เป็นนักเตะในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุก ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในโลกคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดกับทีม โบฮีเมี่ยนส์ ปราก (ปัจจุบันเล่นในลีกของสาธารณรัฐเช็ก) ประเด็นก็คือ ในยุค 1960s - 1980s เชโกสโลวาเกีย (ซึ่งแตกประเทศเป็นเช็กกับสโลวาเกียในปี 1992) ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และกฎของชาติคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น มีความซับซ้อนและยิบย่อยมากในเรื่องการปล่อยนักเตะออกไปค้าแข้งในต่างแดน โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปตะวันตกที่มีลีกแข็งแกร่งและได้รับความนิยมมากกว่า
กฎเหล่านี้ทำให้กว่าที่ ปาเนนก้า จะได้ย้ายไปต่างประเทศก็ต้องรอถึงปี 1981 อีกทั้งประเทศที่ไปเล่นอย่าง ออสเตรีย นั้น พูดตรงๆ ก็ยังเป็นลีกเกรดรองๆ ที่สุดแล้ว จึงมีเพียงจุดโทษของเขาเท่านั้นที่คนส่วนใหญ่นึกถึง
"แน่นอนที่สุด คอมมิวนิสต์ทำให้ความก้าวหน้าในชีวิตค้าแข้งของผมเดินหน้าได้ช้ามาก และผมเองก็แทบไม่คิดถึงเรื่องไปเล่นให้กับสโมสรต่างแดนเลย เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด" ปาเนนก้า กล่าวถึงสาเหตุที่เขาไม่ได้ไปเล่นเคียงข้างกับเหล่ายอดผู้เล่นในยุคเดียวกันอย่าง อูลี่ เฮอเนส, ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์ หรือ โยฮัน ครัฟฟ์
"มันเป็นแบบนั้นอยู่พักใหญ่ จากนั้นกฎก็เริ่มเบาลงบ้าง แต่โดยรวมมันก็เป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะการจะย้ายไปเล่นในต่างแดนได้ ผู้เล่นต้องมีอายุ 32 ปี และเล่นทีมชาติอย่างน้อย 50 นัด ซึ่งสมัยก่อนถือว่ามากโข ต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีกว่าจะได้เล่นครบตามจำนวนดังกล่าว เพราะมันไม่ได้มีโปรแกรมทีมชาติให้ลงเล่นมากมายเหมือนกับทุกวันนี้"
สิ่งที่ยืนยันคำกล่าวของ ปาเนนก้า ได้คือ เขาเริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพตั้งแต่ปี 1967 และแขวนสตั๊ดในปี 1993 ทว่าเขาก็ยังติดทีมชาติ เชโกสโลวาเกีย เพียงแค่ 59 นัดเท่านั้น และตอนย้ายไปเล่นให้ ราปิด เวียนนา ในออสเตรีย เขาก็มีอายุ 32 ปีพอดี น่าเสียดายที่ความละเอียดอ่อนเรื่องการเมืองและการปกครองในเวลานั้น ส่งผลให้เพลย์เมคเกอร์ที่เป็นสายบอลสมอง ไม่รวดเร็วและไม่ชอบช่วยเกมรับ แต่เปี่ยมไปด้วยเทคนิคและการสร้างสรรค์เกมอย่างเขาไม่สามารถมาโชว์ฝีเท้าในต่างแดน ณ ช่วงพีคที่สุดได้ เหลือไว้เพียงจุดโทษของเขาเท่านั้นที่ทุกคนพูดถึง
"จุดโทษลูกนั้นกลบทุกสิ่งทุกอย่างและทุกประตูที่ผมเคยทำมาตลอดชีวิตค้าแข้ง แต่ก็นะ ลูกผู้ชายก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ในแง่มุมหนึ่งผมก็ภูมิใจกับการยกย่องนี้ แต่ในอีกด้านนึงผมจะว่าไงดีล่ะ? จะพูดว่าผิดหวังเต็มๆ ก็คงไม่ถูกนัก แต่ความผิดหวังก็เป็นส่วนหนึ่งหลังจากจุดโทษลูกนั้นด้วย"
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปปี 1976 เป็นการชิงชนะเลิศกันระหว่าง เชโกสโลวาเกีย กับ เยอรมันตะวันตก ตามหน้าเสื่อแล้ว อย่างไรเสียเยอรมันก็ต้องเหนือกว่าอยู่แล้ว ด้วยการนำทัพของ "ไกเซอร์ฟรานซ์" ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์, อูลี่ เฮอเนส และ เซ็ปป์ ไมเออร์ โดยก่อนหน้าจะลงแข่งขันรายการนี้ เยอรมันตะวันตก ก็เพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลยูโร 1972 กับฟุตบอลโลก 1974 มา ดังนั้นจะบอกว่า "อินทรีเหล็ก" อยู่ในยุคทองก็คงไม่ผิดนัก
ขณะที่ เชโกสโลวาเกีย เป็นชาติที่ไม่เคยมีความสำเร็จในระดับเมเจอร์เลยก่อนหน้านี้ ใกล้เคียงที่สุดคือการเป็นรองแชมป์โลกในปี 1934 และ 1962 อย่างไรก็ตามในปี 1976 พวกเขามีทีมที่ดี นำโดย ซเดเน็ก เนโฮด้า, มาเรียน มาสนี่, คาโรล โดเบียส และ อันโตนิน ปาเนนก้า ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นนักเตะที่มีสถิติติดทีมชาติมากที่สุดและยิงประตูมากที่สุดระดับท็อป 10 ของประเทศทั้งสิ้น และทีมชุดนี้ก็ผ่าน ฮอลแลนด์ ที่มี โยฮัน ครัฟฟ์ เป็นจอมทัพในรอบตัดเชือกมาด้วย
เมื่อลงแข่งขันกันปรากฎว่าใน 90 นาทีเสมอกัน 2-2 แบบเป็นที่น่าเสียดายของฝั่ง เชโกสโลวาเกีย เพราะนำก่อนถึง 2-0 ก่อนโดนไล่ตีเสมอในนาทีที่ 89 จากนั้นจึงลากยาวมาถึงช่วงต่อเวลา และปิดท้ายด้วยการดวลจุดโทษตัดสินหาแชมป์
4 คนแรกของ เชโกสโลวาเกีย ยิงเข้าทั้งหมด แต่ละคนเน้นทิศทางทั้งการยิงซุกหน้าต่างไปจนถึงการวิ่งอัดเต็มแรงชนิดเข้ากรอบเมื่อไหร่ไม่มีสิทธิ์เซฟได้ ขณะที่เยอรมัน 3 คนแรกยิงเข้าทั้งหมดจนมาถึงคนที่ 4 อย่าง เฮอเนส ที่พยายามจะยิงเต็มข้อเข้ากลางประตูแต่บอลก็ลอยข้ามคานออกไป
จากการเปิดคลิปย้อนดูจะพบบว่า 8 ผู้เล่นจากทั้ง 2 ทีม ที่ได้รับมอบหมายให้ยิงจุดโทษนั้นแต่ละคนเน้นที่ความแรงเป็นหลักซึ่งเป็นเรื่องปกติของการยิงจุดโทษยุคนั้น จนกระทั่งคนที่ 9 ของเกมและคนที่ 5 ของ เชโกสโลวาเกีย ถือลูกบอลมาเพื่อยิงประตู การปฎิวัติวงการการยิงจุดโทษก็เริ่มขึ้น
สถานการณ์ในตอนนั้นกดดันอย่างที่สุดเท่าที่ใครคนหนึ่งจะสามารถพบได้ หาก ปาเนนก้า ยิงเข้า เชโกสโลวาเกีย จะเป็นแชมป์ แต่ถ้าไม่เข้า เยอรมันตะวันตก จะมีโอกาสกลับสู่เส้นทางชัยชนะเหมือนกับที่พวกเขาโกงความตายตีเสมอ 2-2 ในช่วงนาทีสุดท้ายของเกมปกติ ... ถ้า ปาเนก้า พลาด โมเมนตั้มจะเปลี่ยนฝั่งทันที
ในช่วงเวลาที่บีบหัวใจ ปาเนนก้า กลับเยือกเย็นพอด้วยการชิปบอลข้ามตัว เซปป์ ไมเออร์ นายทวารทีมชาติเยอรมันเข้าไปอย่างสวยงาม พาเชโกสโลวาเกียล้มแชมป์เก่า จากการชนะยิงจุดโทษไปด้วยสกอร์ 5-3 คว้าถ้วยยูโรมาครองเป็นสมัยแรกและสมัยเดียวของพวกเขาได้สำเร็จ
ลูกยิงที่ทั้งเบาและเข้ากลางประตูไม่เคยปรากฎโดยมีสายตาของแฟนบอลทั่วโลกเป็นพยานมาก่อน จริงอยู่อาจจะเคยมีคนยิงแบบนี้ แต่ที่มันเรียกว่าการยิงจุดโทษแบบปาเนนก้า นั่นก็เพราะว่ามันเกิดขึ้นในเกมที่มีความหมายระดับประวัติศาสตร์ของประเทศ และหนำซ้ำเป็นการดวลกับแชมป์โลกผู้แข็งแกร่ง ดังนั้นมันจึงถูกจดจำแม่นยิ่งกว่าประตูอื่นๆ
หลังจากที่ ปาเนนก้า ส่งลูกสู่ก้นตาข่าย วงการฟุตบอลก็วิจารณ์กันไปหลากหลายทิศทาง บ้างก็ว่าเป็นการยิงที่หยามเกียรติและหยาบคาย บางฝ่ายก็บอกว่านี่คือการยิงแบบนักกวีตัวจริง โดยเฉพาะเรื่องความห้าวหาญที่เลือกยิงแบบนั้นในช่วงเวลาที่พลาดไม่ได้
"ผมพุ่งไปทางซ้ายมือของตัวเอง และเท้าของเขายิงช้ามากกว่าปกติ เมื่อบอลมันเข้าไป ผมมองไปที่กรรมการและยกมือขึ้นเพื่อประท้วง ผมคิดว่า ปาเนนก้า ทำผิดกฎการยิงจุดโทษ" เซ็ปป์ ไมเออร์ เล่าผ่านอัตชีวประวัติของเขา เขาโกรธจริงจนถึงขนาดที่ว่าเกมยูโรเปี้ยนคัพหลังจากนั้น ที่ บาเยิร์น มิวนิค ต้นสังกัดของเขาต้องพบกับทีมจาก เชโกสโลวาเกีย เขาไม่ยอมแจกลายเซ็นและให้สื่อถ่ายภาพเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามที่สุดแล้ว อันโตนิน ปาเนนก้า บอกว่านี่คือสิ่งที่เขาเตรียมการเอาไว้เป็นอย่างดี มันไม่ใช่การหยามเกียรติหรืออวดดี แต่มันคือการยิงที่เขามั่นใจว่าเมื่อเท้าของเขาสัมผัสบอลแล้ว มันจะเป็นประตูระดับ 1000% เลยทีเดียว
"หลังจาก เฮอเนส ยิงพลาดมันก็มาถึงคิวของผม ผมรู้สึกเหมือนพระเจ้าประทานพรและมั่นใจว่าผมสามารถยิงเข้าแน่นอนหนึ่งพันเปอร์เซ็นต์" ปาเนนก้า กล่าว
"ผมไม่คิดว่า เซปป์ ไมเออร์ ทำดีที่สุดกับประตูนั้น แต่เขาก็ได้พยายามแล้ว บางทีอาจจะเป็นเพราะทักษะ บางทีอาจะเป็นแค่อะไรที่ทำให้พวกเขาพ่ายแพ้แค่นั้น ผมแค่คาดการณ์ว่าผมจะดังพลุแตกหลังจากนั้น แต่ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะทำให้ เซปป์ ไมเออร์ กลายเป็นตัวตลก ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเรื่องล้อเลียนหรือยั่วยุใส่ใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีถ้วยแชมป์ฟุตบอลยูโรเป็นเดิมพัน ในสถานการณ์ตอนนั้นผมเลือกที่จะยิงจุดโทษเพราะผมรู้ว่ามันเรื่องง่ายและเป็นทักษะพื้นฐานในการที่จะทำประตู มันก็คือสูตรสำเร็จพื้นฐาน”
หลังจากการรบรากันในหมู่นักวิจารณ์ สุดท้ายแล้วคำว่าศิลปะและความเหนือชั้นก็เอาชนะฝั่งที่มองว่าหยามเกียรติได้ เมื่อฟุตบอลนับประตูกันเมื่อลูกฟุตบอลข้ามเส้น ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ส่วนไหนของร่างกายยิงเข้าประตู เมื่อนั้นผู้ยิงสมควรได้รับความชื่นชมทั้งสิ้น
ต่อยอดกันจากการยิง ปาเนนก้า ในปี 1976 มีการขุดให้ลึกลงไปอีกว่าจริงๆ ต้นกำเนิดการยิงจุดโทษแบบปาเนก้านั้นเกิดขึ้นจากเรื่องง่ายๆ นั่นคือการหาเรื่องกินเบียร์ฟรีของนักเตะทีม โบฮีเมี่ยนส์ ปราก เท่านั้นเอง
ย้อนกลับไปในปี 1974 อันโตนิน ปาเนนก้า พาต้นสังกัดลงสนามพบกับทีม พิลเซ่น ในเกมนั้น โบฮีเมี่ยนส์ ปราก ได้จุดโทษถึง 2 ครั้งแต่ ปาเนนก้า ที่เป็นมือสังหารกลับยิงพลาดเรียบ และเมื่อเกมจบลงเขารู้สึกผิดหวังกับการยิงจุดโทษของตัวเองเป็นอย่างมาก เขาจึงได้ชักชวน ซเดเน็ก ฮรุสก้า ผู้รักษาประตูมือ 1 ของทีมมาเป็น 1 ในสมาชิกเข้าคอร์สสร้างความเป็นเลิศในการสังหารจุดโทษกัน
"ไม่เคยมีใครยิงจุดโทษแบบนี้มาก่อนหรอก เพราะผมคิดมันขึ้นมาเอง ผมฝึกลูกจุดโทษทุกวันในการซ้อมกับ ซเดเน็ก ฮรุสก้า และเราพยายามทำให้มันจริงจังมากขึ้นด้วยการเดิมพันด้วยเบียร์หรือช็อคโกแล็ต" ปาเนนก้า เล่าถึงจุดกำเนิดของมัน
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น การยิงจุดโทษไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเวลาเจอกับผู้รักษาประตูที่สามารถเดาทางเก่งและมีเทคนิคในการเซฟจุดโทษโดยเฉพาะ ซึ่ง ฮรุสก้า เองก็เป็นหนึ่งในนั้น การซ้อมยิงจุดโทษระหว่างทั้งคู่จึงจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ ปาเนนก้า แทบจะตลอด นั่นจึงทำให้เขาคิดค้นวิธียิงที่เหนือชั้นยิ่งกว่าการยิงแบบเลือกมุมหรือตัดสินใจอัดด้วยความแรงอย่างเดียว
"ฮรุสก้า เซฟเก่งมาก ผมจึงเสียเงินกับเขาไปเยอะเลย นั่นทำให้ผมเอาไปนั่งคิดนอนคิดและสะดุ้งตื่นกลางดึกคืนหนึ่ง" การปิ๊งครั้งนี้ของ ปาเนนก้า ทำให้เขาพบจุดอ่อนของผู้รักษาประตูบางอย่าง
"ผมนึกภาพออกว่าประตูมักจะรอจนถึงจังหวะสุดท้ายก่อนที่ผมจะยิง จากนั้นพวกเขาจะเริ่มคาดเดาทิศทางเพื่อพุ่งตัวไปรอเซฟให้ทันเวลา ซึ่งมันทำให้ผมคิดได้ว่า ถ้าเป็นแบบนั้น ผมแค่หลอกหน้าเท้าและแตะที่บอลเบาๆ ให้เข้าที่กลางประตูก็น่าจะง่ายกว่า เพราะรู้ตัวอีกทีพวกเขาจะพุ่งไปอีกทางแล้วและไม่สามารถกลับมารับบอลได้"
หลังจากนั้น ปาเนนก้า ก็หาโอกาสการยิงจุดโทษแบบหลอกหน้าเท้าและยิงกลางประตูมาใช้บ่อยๆ ทั้งในสนามซ้อม, เกมกระชับมิตร และการแข่งขันในลีก ซึ่งส่วนใหญ่เขาไม่เคยพลาด ...
"ยิงจุดโทษแบบนี้พอยิงเข้าแล้วมันก็ดูมีเสน่ห์ดี ปัญหาเดียวคือผมเริ่มอ้วนขึ้นเพราะกินแต่เบียร์และช็อคโกแล็ตฟรีหลังจากนั้น" ปาเนนก้า เล่าติดตลก
"เราคือเพลย์เมคเกอร์ และตอนนี้มีหลายคนบอกว่าผู้เล่นตำแหน่งนี้กำลังจะสูญพันธุ์ หน้าที่ของเราคือการแต่งแต้มความคิดสร้างสรรค์และมอบความสวยงามให้กับโลกฟุตบอลในแต่ละเกม เมื่อได้ก็ตามที่คุณเห็นฟุตบอลที่มีความสร้างสรรค์และจินตนาการคุณจะมีความสุข เช่นเดียวกัน มันจะถูกใจแฟนๆ เป็นอย่างมาก" อันโตนิน ปาเนนก้า อธิบายถึงตัวตนที่ทำให้หลายคนเลิกสงสัยว่าทำไมเขาจึงกล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง
เหตุผลมันเป็นเพราะว่าเขาเป็นนักสร้างสรรค์แต่กำเนิด เขาชอบที่จะทำอะไรให้เหนือความคาดหมายทั้งๆ ที่จริงแล้วจะให้เล่นแบบธรรมดาก็ไม่ใช่ปัญหา เขาสามารถทำได้ เพียงแต่ว่าความพิเศษที่เขาใส่ลงไปมันทำให้เกมสนุกขึ้นและทำให้ฟุตบอลมีสีสันมากขึ้น
"ไม่มีปัญหาหรอกสำหรับการยิงจุดโทษ ผมสามารถยิงไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่ผมแค่รอการเคลื่อนไหวของผู้รักษาประตูก่อนเท่านั้นเอง ผมลองทำประจำ สัปดาห์หนึ่งก็ 5-6 ครั้งจนมันกลายเป็นปกติของผมแล้ว ข้อได้เปรียบคือมันง่ายที่จะยิงเข้าเพราะไม่มีโกลคนไหนคิดจะยืนรอบอลกลางประตูหรอก เพราะถ้าเกิดผมยิงไปทางซ้ายหรือขวาเข้าไป พวกเขาจะโดนด่าว่า ก็แล้วทำไมคุณไม่พยายามพุ่งไปเซฟล่ะ?"
ทุกวันนี้การยิงจุดโทษแบบปาเนนก้าถูกนำไปใช้โดยนักเตะระดับโลกหลายคน ซึ่งตัวของเขาเองก็รู้สึกยินดีกับเรื่องนี้ เพราะในสมัยก่อนที่เขาโดนวิจารณ์ว่าเป็นคนบ้าที่เลือกยิงจุดโทษแบบนั้น ทว่าสไตล์ดังกล่าวที่ส่งต่อกันมาแล้วกว่า 50 ปี ก็ยืนยันได้ว่าเขาไม่ใช่คนบ้า แค่เป็นอัจฉริยะที่ใจถึงมากพอแค่นั้นเอง
"ผมมีความสุขที่เห็นนักเตะพยายามยิงจุดโทษแบบปาเนนก้า นักข่าวก็พูดเกี่ยวกับมันและแฟนบอลก็สนุก เพราะขนาดนักเตะอย่าง ฟรานเชสโก้ ต็อตติ และ ซีเนดีน ซีดาน ก็ยังเคยทำมันเลยนี่นา" เขากล่าวทิ้งท้าย